วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

คนไทยกับพวงมาลัย และกระบวนการ Discourse

พวงมาลัยเป็นงานศิลปะที่เริ่มมาจากในวัง ประกอบไปด้วยดอกไม้ที่เรียงร้อยด้วยเส้นดาย พวงมาลัยดอกไม้อาจให้ความรู้สึกหลายแบบ แต่คนส่วนใหญ่ เมื่อเห็นพวงมาลัยดอกไม้ ก็มักจะนึกถึงอะไรที่เกี่ยวกับพิธี ศาสนา และไสยศาสตร์ เรามักจะเห็นพวงมาลัยดอกไม้อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนหิ้งพระในบ้าน ในวัด ตามต้นไม้ ตามศาลเจ้า ศาลพระภูมิ และหาซื้อได้ตามตลาด หรือเด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยกของถนน วิถีชีวิตคนไทยผูกพันกับพวงมาลัยดอกไม้ เรามักจะเห็นว่าพวงมาลัย เข้าไปอยู่ในเกือบทุกช่วง ทุกเวลาของชีวิตเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย

เราใช้พวงมาลัยในสถานการณ์ใดบ้าง
พวงมาลัยใช้ในหลายสถานการณ์ เช่นนำมาเป็นสิ่งต้อนรับ แสดงความเคารพ ใช้ในพิธีเปิดหรือพิธีที่ต้องมีการร่ำลา ใช้ในงาน พิธี เช่นงานศพ หรือเทศกาล นำไปเป็นของประดับ ใช้นำไปคล้องคอนักร้อง คล้องคอเจ้าบ่าว เจ้าสาว ไปจนถึงใช้ประกอบพิธีทางศาสนาหรือความเชื่อทางไสยศาสตร์ หากจะเริ่มจากตรงจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่าดอกไม้นั่นเองที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนเรา และเป็นเครื่องมือแสดงหรือสื่อให้เห็นถึงภาวะทางจิตใจหรือความรู้สึกของคนเราในแต่บางสถานการณ์ อารมณ์ หรือความรู้สึกนั้นอาจเป็นสุข ยินดี เศร้า กลัว ไม่มั่นใจ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกตื่นเต้น หรือประหลาดใจกับสิ่งใดใด หรือเหตุการณ์ใดใดที่ประหลาด หรือสร้างความฉงน สงสัยให้เรา เช่นภาพเศียรพระที่ถูกรัดรอบด้วยรากไม้ ณ วัดมหาธาตุ ที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หรือตามต้นไม้ที่มีรูปร่างแปลก ๆ แล้วก็เรียกว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือพวงมาลัยที่นำไปบูชาต้นไม้ พร้อม ๆ กับผ้าพันรอบลำต้น ในพิธีทำบุญป่า

พวงมาลัยที่นำไปต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือแขกในโรงแรม ก็เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนบอกความรู้สึกยินดี และเต็มไปด้วยความเต็มใจ ของพนักงานต้อนรับ สิ่งเหล่านี้ ถูกรับรู้โดยแขกเหรื่อ ว่า นี่คือการต้อนรับอย่างอบอุ่น เต็มไปด้วยความเป็นมิตร และความเป็นไทย

พวงมาลัยที่ห้อยอยู่ตามศาลเจ้า เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำพวงมาลัยมาใช้เป็นของบูชา หรือแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในการเคารพนั้นๆ มีหลายครั้งที่จะมีความรู้สึกกลัวและไม่มั่นใจ รวมไปถึงความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหวัง ขณะยื่นพวงมาลัยไปวางบนหิ้งศาลเจ้านั้น และตามวิถีชีวิตของคนไทยแล้ว เราก็มักจะนำพวงมาลัยวางไว้บนหิ้งพระในบ้านด้วย ก็เพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธ นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ก็ยังห้อยพวงมาลัยหน้ารถ พร้อมๆ กับความรู้สึกว่าพวงมาลัยนำความโชคดี และความปลอดภัยมาให้ ในงานหรือเทศกาลแข่งเรือ เราก็จะเห็นว่าพวงมาลัยจะถูกห้อยไว้ที่หัวเรือ ที่มีรูปสลักที่เรียกว่าแม่ย่านาง ในเทศกาลลอยกระทงที่จะถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทงก็จะประดับด้วยดอกไม้เช่นกัน เพื่อนำไปบูชาแม่น้ำ

พวงมาลัยเกี่ยวพันกับการเสี่ยงทาย เห็นได้จากในวรรณคดีเรื่อง “เงาะป่า” ที่นางตัวเอกของเรื่องต้องเลือกคู่ ก็จะใช้พวงมาลัยโยน เพื่อเสี่ยงทายคู่ครอง หรือโยน เพื่อเลือกคู่ครองด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงเห็นบ่อยครั้งที่นางรำ ณ ศาลเจ้าขนาดใหญ่ จะรำแก้บน พร้อม ๆ กับในมือถือพวงมาลัย ทุกอย่างที่กล่าวมา เกี่ยวพันกับการเสี่ยงทาย และความต้องการโชคดี และความหวังทั้งสิ้น

ในอีกมุมมองหนึ่ง เป็นมุมมองทางสังคม ก็คือ พวงมาลัยสะท้อนให้เห็นชีวิตอีกแบบที่มีเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน คุณเคยรู้สึกหรือนึกถึงคนพวกนี้ไหม เวลาคุณเห็นพวงมาลัย เวลาส่วนใหญ่ของคุณ โดยเฉพาะคนกรุง อยู่ในรถ หากคุณอยากได้พวงมาลัย คุณจะนึกถึงใคร ถ้าไม่ใช้เด็กขายพวงมาลัย ตามแยกถนน แล้วทำไมคุณถึงนึกถึงเด็ก ก็เพราะเราเห็นจนเจนตาว่าเด็กมักจะเป็นผู้ขาย มองเลยไปอีก เด็กเหล่านี้ น่าจะไปเรียนหนังสือ ณ เวลานั้น มากกว่าจะมาขายพวงมาลัย อยู่บนท้องถนนที่มีแต่ควัน รถมากมาย อยู่กับคนแก่ ซึ่งอาจเป็นย่า หรือยาย ปู่ หรือตาของพวกเขา ที่นั่งร้อยมาลัยอยู่ใต้สะพาน หรือริมถนน มันสะท้อนให้เห็นว่ายังมีเด็กอีกมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมพอ และคนแก่ก็ยังถูกลูกหลานละเลย โดยสรุปแล้ว มันก็แปลว่า คนจนมีอยู่มากมายเหลือเกิน แต่บางที พวกเขาก็อาจจะมีความสุขในสภาพนั้น เราก็ไม่อาจรู้

ในทางพระพุทธศาสนา ดอกบัวก็เป็นอีกหนึ่งประเภทที่ถูกนำมาเป็นสื่อทางด้านพุทธ เรามักจะเห็นดอกบัวอยู่คู่กับบาตรพระ เรานำดอกบัวมาถวายพระพร้อมกับอาหาร เวลาทำบุญตักบาตร ความหมายของดอกบัว มีมากกว่าตัวดอกบัวเอง เพราะเราได้รับความรู้มาว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาพร้อมกับมีดอกบัวรองพระบาท เวลาเดิน และท่านยังตรัสรู้ขณะที่นั่งบนดอกบัวด้วย เรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เรานำดอกบัวมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อประกอบกิจทางพุทธศาสนา

หลายครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง เราก็ไม่อาจรู้ได้ ที่เรารับรู้เรื่องราว การบอกกล่าว เล่าขาน หรือจากการอ่านสิ่งต่าง ๆ แล้วเราก็สร้างความรู้สึกต่างๆ จากการรับรู้นั้น บางทีก็เป็นความรู้สึกด้านบวก บางทีก็ลบ เราอาจเรียกกระบวนการนี้ว่าการ Social Discourse เช่น เรารับรู้เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่มีดอกบัวมาเกี่ยวข้อง แล้วสร้างความรู้สึกจากการรับรู้เรื่องราวนั้น ๆ ผ่านดอกบัว เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า “สงบ” การนำดอกบัวถวายพระ เราก็จะรู้สึกว่าเราได้ทำบุญ เราได้ความสงบ นั่นเป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แก่นของพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ธูปเทียน ดอกไม้ หรือพวงมาลัย แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะความจริงของจิตใจ ว่าเรารู้สึกอย่างไร สงบจริงหรือไม่ เข้าใจในความเป็นพุทธศาสนาจริงหรือไม่ ถ่องแท้แค่ไหน เพราะในความจริงแล้ว พระพุทธศาสนา คือหลักและกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ ทุกอย่างมีที่มาที่ไปตามกฎธรรมชาติ และสิ่งนี้ก็ได้ ที่ทำให้ดอกไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตของธรรมชาติ ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและพิธีการต่าง ๆ อันเนื่องมาจากความบริสุทธิ์ของมัน

ในที่สุดแล้วบางที หากไม่มีสิ่งที่เป็นสื่อกลางเช่นพวงมาลัย หรือดอกไม้เหล่านี้ บางที เราเองก็อาจหลงทาง และไม่มีธรรมเนียมหรือแบบแผนปฏิบัติใดใดเป็นแนวทางและมีการปฏิบัติสืบต่อ และนั่นหมายถึง สังคมนั้น ๆ ยังไม่ใช่สังคมที่สมบูรณ์

ในทางพาณิชย์ เรามักนำกระบวนการ Discourse เหล่านี้มาใช้เสมอ เพื่อตอกย้ำ “ความเป็น” สิ่งใดใดก็ตาม ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยหลายเล่ม เรามักเห็นภาพของดอกบัว หรือไม่ก็พวงมาลัยบนหน้าปกหนังสือ แสดงความเป็นไทยผ่านภาพเหล่านั้น หรือหนังสือเกี่ยวกับบ้านที่เน้นสไตล์ตะวันออก บางทีก็มีการ positioning ของความเป็นตะวันออก โดยการตกแต่งภาพด้วยพวงมาลัยดอกไม้สด หรืออุบะ วางไว้ในถาดหรือพาน ข้างหมอนอิง เป็นต้น พวงมาลัย และดอกไม้ เช่น ดอกบัว นี้ ถือได้ว่า ได้รับใช้จุดประสงค์ทางด้านการโฆษณาและการบอกกล่าวผ่านภาพลักษณ์ หรือ Image ให้สังคมอื่น ๆ ได้รับรู้ ด้วยเช่นกัน

สรุปแล้ว อาจบอกได้ว่า ดอกไม้และพวงมาลัยมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่อยู่เหนือคำว่าวิทยาศาสตร์ สิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตใจคนเราได้ง่าย และฝังรากลึกลงไปในใจคนเราและเปลี่ยนแปลงยาก ดังนั้น การนำเอาสิ่งต่าง ๆ ที่กระทบจิตใจและการรับรู้ของคนเรา และทำให้คนจำได้ง่าย ๆ โดยผ่านกระบวนการ Discourse มาใช้ประโยชน์ในด้านการออกแบบงานโฆษณา จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ การ Decode สิ่งต่าง ๆ จึงสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำงานออกแบบเพื่อสื่อให้สังคม หรือกลุ่มเป้าหมาย เห็นและเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ แต่กระนั้น เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า คนที่เห็นนั้น จะรับรู้และ Decode สิ่งทีเราต้องการสื่อได้ตรงกับเราหรือไม่ เพราะการ Decode สิ่งต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และบริบทแวดล้อมของแต่ละคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น